วันเสาร์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2553

ทำไมต้องขึ้นภูกระดึงในเดือนตุลาคม


1. ผู้พิชิตคนแรก: วันที่ 1 ตุลาคมเป็นวันแรกของการเปิดฤดูท่องเที่ยว ภูกระดึง ของทุกปี ใครอยากจะเป็นคนแรกที่ขึ้นถึงยอดภู หรือเป็นผู้พิชิต ภูกระดึง กลุ่มแรกของปี ก็ต้องมาวันนี้กันครับ
2. สดใหม่ไร้มลทิน: ป่าทั้งป่า ต้นไม้ใบหญ้าทุกกอทุกใบ สดใสงดงามไม่มีมลทินจากน้ำมือมนุษย์มาตลอด 4 เดือนเต็ม ( รวมทั้งพวกไม้ดอกยังไม่มีพวกนักท่องเที่ยวมักง่าย เหยียบย่ำทำร้าย หรือเด็ดเล่น จะพบเห็นได้ข้างทางทั่วไปครับ )
3. เขียวขจี- พวกไม้บางชนิด พวกที่ต้องอาศัยสภาพฉ่ำน้ำจะยังขึ้นอยู่ทั่วไปครับ พวกมอสจะไม่แค่คลุมหินอย่างเดียว ยังขึ้นคลุมดินจนเหมือนเป็นพรมผืนใหญ่ในบางจุดด้วย ความจริงแหล่งชมพืชพรรณพวกนี้ที่น่าสนใจคือ “ลานพระแก้ว” ที่อยู่ใกล้ ๆ กับผานกแอ่น แต่ช่วง 3-4 ปีหลังมานี้ บริเวณนี้จัดเป็นพื้นที่อันตรายเพราะเป็นเขตช้างป่า เวลาจะไปชมต้องสอบถามเจ้าหน้าที่ หรือมีเจ้าหน้าที่พาไปจะดีที่สุดครับ
4. สวรรค์มาโคร- ใครที่เล่นกล้องไม่ควรพลาด ยิ่งชอบถ่ายภาพระยะใกล้ หรือมาโครนั้น ช่วงนี้มีดอกไม้ที่ยังไม่บอบช้ำ พืชพรรณ เห็ดแปลก ๆ ฯลฯ ลองเอากล้องมาส่องเก็บภาพงาม ๆ เก็บไปบ้างสิครับ
5. ปลายฝนต้นหนาว- อากาศช่วงเดือนตุลาคม ถือว่าเป็นปลายฝนต้นหนาว คือ ฝนเริ่มหมดแล้ว แต่ยังมีตกบ้างเป็นครั้งคราว แต่ก็ยังไม่หนาวลมเหมือนหน้าหนาวที่จะเริ่มเข้าตั้งแต่กลางเดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไป
6. ปลีกวิเวก- ใครที่ไม่ชอบนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ๆ เหมือนหน้าเทศกาล ก็ไม่ควรพลาด ภูกระดึง ในเดือนตุลาครับ เพราะมีนักท่องเที่ยวขึ้นมากันพอสมควร พอที่จะไม่เหงา แต่ไม่มากจนมีปัญหาเรื่องความจอแจเหมือนช่วงเดือนธันวาคม
7. แต่ละเดือนไม่เหมือนกัน- เสน่ห์อีกด้านของ ภูกระดึง คือ แต่ละเดือนไม่เหมือนกันครับ มีสภาพอากาศ และพืชพรรณที่ต่างกันออกไป ช่วงที่ยังมีฝนโปรยฟ้าอยู่นี่ จะมีพวกหมอกให้ชม ไม่แน่ถ้าโอกาสเหมาะ ๆ อาจเจอเดินขึ้นตรงซำกกโดนแล้วมีหมอกคลุมจนมองไม่เห็นทางเลยก็มี
8. ชมน้ำตก- สมัยนี้เมืองไทยหน้าแล้งเยอะ ทำให้น้ำตกบนภูแล้งน้ำเร็วกว่าปกติ ดังนั้นเดือนตุลาคม จึงเป็นอีกเดือนที่พอจะอุ่นใจได้ว่ายังเห็นภาพน้ำตกงาม ๆ สวย ๆ บนยอดภูได้อยู่

ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว


มีศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ทั้งบนยอดภูกระดึง และบริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติซึ่งอยู่ด้านล่าง ให้บริการข้อมูลเกี่ยวกับอุทยานแห่งชาติ นักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาขอรับบริการข้อมูลได้ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ ระหว่างเวลา 8.00 - 16.30 น.

สระอโนดาด



เป็นสระน้ำขนาดใหญ่ที่มีต้นสนขึ้นเป็นแนวแน่นขนัด ตามริมสระตอนปากธารน้ำไหลมีลานหินโผล่ขึ้นมา ยามน้ำน้อยสามารถไปนั่งเล่น ได้จากบริเวณสระอโนดาดยังมีทางเดินไปต่อบรรจบกับเส้นทางเดินเท้าสู่ถ้ำสอและถ้ำน้ำได้

บริการอาหาร


เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้รับบริการที่ดี ทั้งคุณภาพอาหารและเครื่องดื่ม หากพบว่าไม่สะอาด ราคาไม่เป็นธรรม หรือมีการปลอมปน ขอให้นักท่องเที่ยวแจ้งเจ้าหน้าที่ที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวหรือโทรศัพท์หมายเลข 0-4287-1333 เพื่อดำเนินการตามระเบียบและกฎหมายต่อไป สำหรับร้านอาหารและร้านจำหน่ายของที่ระลึกนั้น มีไว้คอยบริการตามจุดต่างๆ ดังนี้1. บริเวณศูนย์บริการนักท่องเที่ยวศรีฐาน (เชิงเขา)2. ระหว่างทางเดินขึ้นเขา บริเวณซำแฮก ซำกอซาง ซำกกโดน และซำแคร่3. บริเวณศูนย์บริการนักท่องเที่ยววังกวาง (ยอดเขา) และจุดชมทิวทัศน์ต่างๆบนยอดเขา ดังนี้ ผาหมากดูก ผานาน้อย ผาเหยียบเมฆ ผาแดง และผาหล่มสัก

สถานที่ที่นักท่องเที่ยวนิยมไปชมมากที่สุด (ผาหล่มสัก)



เป็นลานหินกว้าง และมีสนต้นใหญ่อยู่ใกล้กับชะง่อนหินที่ยื่นออกไปจากหน้าผา เป็นสถานที่ชมพระอาทิตย์ตกได้ชัดเจนที่สุด จึงทำให้นักท่องเที่ยว ช่างภาพนิยมไปถ่ายภาพเป็นที่ระลึก ผาแห่งนี้ถือเป็นสัญลักษณ์ของภูกระดึง

ความชันของเส้นทาง




จะเริ่มชันมากขึ้น ในช่วงก่อนขึ้นซำแรก คือ ในช่วงแรก หลังจากนั้นเป็นทางราบบ้าง เป็นเนินบ้าง ในช่วงก่อนถึงพร่านพรานแป ถ้าจะเดินไปตามทางที่ตัดซิกแซก ทำให้ไม่เหนื่อยเร็ว แต่บางคน ชอบทางลัด กลับเดินขึ้นไปตามทางชัน และไปจนช่วงสุดท้าย จากซำแคร่ถึงหลังแป ดูเหมือนจะเป็นช่วงที่ชันที่สุด ในขณะที่ทุกคนเหน็ดเหนื่อย จนจะหมดแรงเดินอยู่แล้ว พลันก็โผล่พ้นหลังแป ได้แลเห็นทิวทัศน์ท้องทุ่งที่ราบกว้าง และหมู่ดงสนที่ขึ้นแซมอยู่งดงาม ความเหนื่อยยากที่อุตส่าห์ บากบั่นขึ้นมา ก็แทบหายไปจากหลังแป ยังต้องเดินต่อไปตามทางราบอีกประมาณ 3 กม. จนถึงบริเวณบ้านพัก

สัตว์ท้องถิ่น



ภูกระดึงได้ชื่อว่าเป็นแหล่งที่มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่อย่างชุกชุม เนื่องจากลักษณะภูมิประเทศประกอบไปด้วยป่าไม้ ทุ่งหญ้าและลำธาร ซึ่งเป็นแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ จากการสำรวจพบสัตว์บกมีกระดูกสันหลังรวม 266 ชนิด แบ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 36 ชนิดเช่น เก้ง กวางป่า หมูป่า ลิงกัง ลิงลม บ่าง กระรอก กระแต หนูหริ่งนาหางยาว ตุ่น เม่นหางพวง พังพอน และ อีเห็น เป็นต้น ในจำนวนนี้เป็นสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ 4 ชนิด คือ เลียงผา ช้างป่า เสือดาว และเสือโคร่ง สัตว์ปีกจำนวน 171 ชนิดเช่น เหยี่ยวรุ้ง นกเขาเปล้า นกเขาใหญ่ นกกระปูดใหญ่ นกเค้ากู่ นกตะขาบทุ่ง นกโพระดกคอสีฟ้า นกตีทอง นกหัวขวานสามนิ้วหลังทอง นกนางแอ่นสะโพกแดง นกเด้าดินสวน นกอุ้มบาตร์ นกขี้เถ้าใหญ่ นกกระทาทุ่ง นกพญาไฟใหญ่ นกกางเขนดง นกจาบดินอกลาย และ นกขมิ้นดงเป็นต้น สัตว์เลื้อยคลาน 39 ชนิดเช่น ตุ๊กแก จิ้งจกหางแบนเล็ก กิ้งก่าสวน จิ้งเหลนบ้าน เต่าเหลือง งูทางมะพร้าว งูลายสอบ้าน งูจงอาง งูเก่า และงูเขียวหางไหม้เป็นต้น มี 1 ชนิดที่ใกล้สูญพันธุ์ คือ เต่าเดือย นอกจากนี้ยังพบเต่าชนิดหนึ่งซึ่งหาได้ยาก คือ เต่าปูลู หรือ “เต่าหาง” เป็นเต่าที่หางยาวอาศัยอยู่ตามลำธารในป่าเขาระดับสูงของประเทศไทย กัมพูชา และ ลาว และสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกจำนวนมาก เช่น อึ่งอี๊ดหลังลาย เขียดหนอง คางคก กบหูใหญ่ และ ปาดแคระเป็นต้น

สัตว์ป่าที่สามารถพบเห็นได้บ่อยเมื่อขึ้นไปถึงยอดภูคือกวาง เนื่องจากมีกลุ่มกวางจำนวนหนึ่งที่เจ้าหน้าที่ของอุทยานฯ ได้เลี้ยงเอาไว้ ทำให้กวางกลุ่มนี้ไม่หนีคน. กวางตัวแรกที่เจ้าหน้าที่ได้เลี้ยงเอาไว้ชื่อ คำหล้า เป็นกวางตัวเมีย ตัวที่สองเป็นตัวผู้ชื่อ คัมภีร์ นอกจากนี้ยังมีหมูป่าซึ่งเคยพบตัวในบริเวณป่าปิด แต่ปัจจุบันมีกระจายอยู่ทั่วไปแม้ในส่วนลานกางเต็นท์เมื่อยามมีนักท่องเที่ยวไม่มาก และสุนัขป่า เดิมจะอยู่ในส่วนป่าสนด้านบน หากินกันเป็นฝูงใหญ่ แต่ปัจจุบันเข้ามาหากินใกล้บริเวณที่ทำการมากขึ้น สามารถพบเห็นได้บริเวณร้านค้าที่ทำการด้วย

สัตว์ที่ขึ้นชื่ออีกอย่างหนึ่งของภูกระดึงได้แก่ทาก เนื่องจากมักเป็นที่หวาดกลัวของนักท่องเที่ยวจำนวนมาก บนภูกระดึงจะพบมากในฤดูฝน และมีมากในบริเวณที่พักอาศัย เส้นทางน้ำตก และบริเวณป่าปิด. เจ้าหน้าที่บางท่านเล่าว่าทากบนภูกระดึงเป็นคนละประเภทกับทากที่อุทยานแห่งชาติเขาหลวง ที่มีขนาดใหญ่กว่า สามารถเกาะตามกิ่งไม้สูง และ พุ่งกระโดดไปเกาะยังสัตว์เลือดอุ่นได้อย่างรวดเร็ว ทากที่กระโดดได้นี้จะมีสีเขียว และเรียกว่า "ทากตอง"

เวลาที่ใช้ในการเดินทางขึ้นภูกระดึง


เวลาที่ใช้ในการเดินทางขึ้นภูกระดึงนั้น ตามปกติ ของผู้ที่มีร่างกายแข็งแรงดี ก็จะใช้เวลาประมาณ 3-4 ชม. จากเชิงเขาขึ้นไปถึงบ้านพัก ถ้าหากได้ขึ้นแต่เช้า จะมีเวลาในช่วงบ่ายเดินเที่ยวภูได้บ้าง แต่ถ้าขึ้นในเวลา ตอนบ่าย ก็อย่าให้บ่ายมากนัก เพราะถ้าไปมืดค่ำ ระหว่างทางก็จะลำบาก รวมระยะทางปีนเขา 5.4 กม. และเดินบนที่ราบ 3 กม.

วันอังคารที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2553

การเดินทาง


รถยนต์
เดินทางโดยรถยนต์ สามารถเดินทางได้หลายเส้นทาง
1) เดินทางผ่านจังหวัดสระบุรี เพชรบูรณ์ อำเภอหล่มสัก หล่มเก่า ด่านซ้าย ภูเรือ และอำเภอเมืองเลย เลี้ยวเข้าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 201 (เลย-ขอนแก่น) และเลี้ยวเข้าทางหลวงจังหวัดหมายเลข 2019 เข้าสู่อุทยานแห่งชาติภูกระดึง
2) ใช้เส้นทางผ่านจังหวัดสระบุรี นครราชสีมา จนถึงจังหวัดขอนแก่นเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 201 ผ่านอำเภอภูผาม่าน และตำบลผานกเค้า เข้าสู่อุทยานแห่งชาติภูกระดึง
3) เดินทางผ่านจังหวัดสระบุรี อำเภอปากช่อง เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 201 ผ่านจังหวัดชัยภูมิ อำเภอภูเขียว แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 ผ่านอำเภอชุมแพ จากนั้นเดินทางเช่นเดียวกับเส้นทางที่ 2
เครื่องบิน
เดินทางโดยเครื่องบิน โดยใช้เที่ยวบิน กรุงเทพฯ-ขอนแก่น กรุงเทพฯ-เลย กรุงเทพฯ-อุดรธานี ของสายการบินต่างๆ ได้ทุกวัน สอบถามข้อมูลเที่ยวบินและสายการบิน โทร. 0-2628-2000, 0-2515-9999, 0-2267-2999 และ 1318
รถไฟ
เดินทางโดยรถไฟ ขึ้นรถไฟที่ที่สถานีรถไฟหัวลำโพงถึงสถานีรถไฟขอนแก่น ต่อรถโดยสารสายขอนแก่น-เลย ถึงอำเภอภูกระดึงแล้วต่อรถสองแถวเข้าอุทยานแห่งชาติภูกระดึง สอบถามข้อมูลรถไฟ โทร. 0-2225-1300 ต่อ 5201 ,0-2223-0341-3 หรือติดต่อสอบถามโดยตรงที่อุทยานแห่งชาติกระดึง โทร. 0-4287-1333, 0-4287-1458
รถโดยสารประจำทาง
เดินทางโดยรถโดยสารประจำทาง ขึ้นรถโดยสารที่สถานีขนส่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (หมอชิต 2) สายกรุงเทพ-เมืองเลย ลงรถที่ผานกเค้า หรือสถานีขนส่งอำเภอภูกระดึง แล้วต่อรถสองแถวเข้าอุทยานแห่งชาติภูกระดึง สอบถามข้อมูลรถโดยสาร โทร.0-2936-2852-66 อัตราค่าโดยสาร
รถปรับอากาศ VIP 24 ที่นั่ง ราคา 590 บาท
รถปรับอากาศ VIP 32 ที่นั่ง ราคา 449 บาท
รถปรับอากาศ ชั้น 1 ราคา 258 บาท
รถปรับอากาศ ชั้น 2 ราคา 280 บาท
ลงรถที่ผานกเค้า *หมายเหตุ -ต่อรถสองแถวจากผานกเค้า ถึงอุทยานแห่งชาติภูกระดึง ราคา 20 บาท/คน